1.ระบบการพิมพ์พื้นนูน (relief printing)
หมายถึง ระบบการพิมพ์ที่แม่พิมพ์มีส่วนที่จะใช้พิมพ์เป็นภาพนูน สูงขึ้นมาจากพื้นแม่พิมพ์ ส่วนที่นูนสูงขึ้นมานี้เมื่อได้รับหมึกแล้วก็จะสามารถพิมพ์กระดาษได้โดยตรงทันที ระบบการพิมพ์แบบนี้จัดได้ว่าเป็นระบบการพิมพ์ที่เก่าแก่ที่สุด แต่ก็ยังมีใช้กันมาจนถึงปัจจุบันนี้ มนุษย์รู้จักวิธีแกะสลัก ดินเหนียว โลหะ หรือไม้ให้เป็นตัวหนังสือหรือภาพต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นแม่พิมพ์มานานหลายพันปีแล้ว แต่จุดสำคัญของ การพัฒนาระบบการพิมพ์และการอ่านหนังสือของมนุษย์ก็คือ เมื่อ โยฮัน กูเตนเบิร์ก (Johann Gutenburg) ได้เริ่มคิดประดิษฐ์การเรียงพิมพ์ด้วยตัวอักษรเป็นตัว ๆ ส่งผลให้มีความเจริญก้าวหน้าในศิลปวิทยาการต่าง ๆ เป็นอย่างมาก
ในปัจจุบันระบบการพิมพ์พื้นนูน มี 2 ระบบ คือ
ระบบเลตเตอร์เพรส (letterpress)
ระบบเฟลกโซกราฟฟี (flexography)
1.ระบบเลตเตอร์เพรส (letterpress)
ระบบนี้เป็นระบบการพิมพ์ชนิดแม่พิมพ์พื้นนูนแบบเดียวกับชนิดที่ กูเตนเบิร์กเคยใช้ กล่าวคือ ใช้ตัวพิมพ์แต่ละ อักษรที่หล่อด้วยโลหะผสม (alloy) มาจัดเรียงให้เป็นข้อความตามที่ต้องการ แล้วนำไปใช้พิมพ์บน เครื่องพิมพ์ได้โดยตรง
ลักษณะที่สำคัญของแม่พิมพ์ระบบนี้คือ ส่วนที่เป็นภาพพิมพ์จะสูงกว่าส่วนที่ไม่ใช่ภาพฉะนั้นเมื่อคลึงหมึกลงไป หมึกก็จะสัมผัสเฉพาะส่วนที่สูงขึ้นมาเท่านั้น เมื่อกดกระดาษที่จะใช้พิมพ์ลงไป หมึกก็จะติดกับกระดาษพิมพ์ เกิดเป็นภาพพิมพ์โดยตรง ในการพิมพ์ข้อความทั่วไปจะใช้ตัวเรียงโลหะเรียงต่อกันไปเป็นข้อความ ตัวเรียงแต่ละตัวมี ความสูง 0.918 นิ้ว หน่วยที่ใช้วัดขนาดความสูงของตัวเรียงคือ พอยท์ (point) ขนาดตัวเรียงที่ใช้เรียง เป็นตัวพื้นของหนังสือทั่วไป คือ 19.5 พอยท์ ถ้าเล็กกว่านี้จะเป็นตัวจิ๋ว ( ในระบบเลตเตอร์เพรสเท่านั้น )
สำหรับการพิมพ์ภาพหรือตาราง กราฟ แผนภูมิที่ยุ่งยาก จะต้องนำภาพต้นฉบับเหล่านี้ไปทำเป็นบล็อกก่อน ตัวบล็อกทำด้วยโลหะผสมของแมกนีเซียม เมื่อต้องการทำบล็อก ก็จะต้องนำต้นฉบับไปถ่ายลงบนฟิล์ม จากนั้นนำฟิล์มไปอัดลงบนแผ่นโลหะที่ใช้ทำบล็อกซึ่งเคลือบไว้ด้วยสารไวแสง เมื่อฉายแสงลงไป สารไวแสงส่วนที่ ถูกแสง ( ซึ่งเป็นภาพ ) จะแข็งตัว ส่วนที่ไม่ถูกแสงไม่ถูกแสงซึ่งไม่ใช่ภาพจะไม่แข็งตัว เมื่อนำแผ่นบล็อกนี้ไปใช้ กัดด้วยน้ำกรด น้ำกรดก็จะกัดส่วนที่ไม่ถูกแสงออกไปหมด จนถึงความลึกที่ต้องการ ก็จะเหลือเฉพาะส่วนที่เป็นภาพสูง กว่าบริเวณที่ไม่ใช่ภาพ ซึ่งจะใช้เป็นแม่พิมพ์ต่อไป
ในปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนมาใช้บล็อกพลาสติก ซึ่งทำด้วยสารพวกโพลีเมอร์ (polymer) มากขึ้นแล้ว ซึ่งทำได้ สะดวกมาก ส่วนกรรมวิธีการทำก็คล้ายคลึงกัน แต่มักจะใช้กัดส่วนที่ไม่ใช่ภาพออกด้วยน้ำ อาจแสดงขั้นตอน การเรียงพิมพ์และการพิมพ์ด้วยระบบเลตเตอร์เพรสได้ดังนี้
ต้นฉบับตัวหนังสือ------>เรียงพิมพ์ ------>ตรวจพิสูจน์อักษร ------>พิมพ์
ต้นฉบับที่เป็นภาพ ------>ทำบล็อก
ระบบการพิมพ์เลตเตอร์เพรสสามารถใช้พิมพ์งานได้ทุกชนิดทั้งงานเล็ก ๆ ทั่วไป เช่น การ์ด นามบัตร และหนังสือเล่ม หนังสือพิมพ์ นิตยสาร และโดยเหตุที่เป็นระบบการพิมพ์ที่ง่าย และสามารถพิมพ์จากตัวเรียงได้โดยตรง จึงมีค่าใช้จ่ายในการพิมพ์ค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับระบบการพิมพ์อื่น ๆ นอกจากนี้การแก้คำผิดหรือตัด – เติมข้อความก็สามารถทำได้ง่ายและเสียค่าใช้จ่ายต่ำ แต่มักจะเสียเวลามากในการเตรียมการพิมพ์บนเครื่องพิมพ์ เพราะ ต้องเสียเวลาในการจัดกรอบตัวพิมพ์ การประกอบบล็อกเข้ากับตัวเรียง การรองหนุนในกรณีที่ต้องพิมพ์บางตัวลึก ไม่เท่ากัน และการแก้ไขเปลี่ยนแปลงตัวเรียงที่ชำรุด เป็นต้น
ส่วนในด้านชนิดของเครื่องพิมพ์นั้น เครื่องพิมพ์ในระบบเลตเตอร์เพรสมีด้วยกัน 3 ชนิด คือ
1.1 เครื่องพิมพ์ชนิดพลาเทน (platen press) เป็นเครื่องพิมพ์ขนาดเล็ด ป้อนทีละแผ่นขนาดกระดาษ พิมพ์ใหญ่สุดประมาณ 10” x 15” โดยทั่วไปอาจเรียกว่า “ แท่นตีธง ” ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า และป้อนกระดาษโดยอัตโนมัติ นอกจากนี้ยังอาจมีขนาดเล็กกว่านี้ลงไปอีก ไม่ใช้ไฟฟ้า แต่ใช้โยกพิมพ์ด้วยมือ โดยทั่วไปเรียกว่า “ แท่นกิ๊ก ” ซึ่งปัจจุบันนี้มีใช้น้อยมาก เครื่องพิมพ์ประเภทนี้เหมาะสำหรับการพิมพ์งานจำนวนน้อย ๆ แลไม่ต้องการความประณีตสูง เช่น หัวจดหมาย ใบเสร็จรับเงิน ซองจดหมาย ประกาศ การ์ดเชิญ นามบัตร และสิ่งพิมพ์เล็ก ๆ อื่น ๆ
1.2 เครื่องพิมพ์ชนิดแท่นนอน (flat-bed cylinder press) เครื่องพิมพ์ชนิดนี้มีความสามารถ ในการพิมพ์ขนาดใหญ่กว่าชนิดพลาเทน และพิมพ์งานประเภทพื้นตาย และสกรีนได้คุณภาพดีกว่า คือ อาจพิมพ์ เป็นแผ่นขนาดใหญ่ได้ถึงประมาณ 15” x 20” หรือใหญ่กว่านี้ได้ ฉะนั้นจึงเหมาะสำหรับการพิมพ์หนังสือทั่วไป แผ่นโฆษณา กล่องกระดาษ และปกหนังสือ เป็นต้น
กระดาษที่ใช้พิมพ์จะถูกป้อนให้ม้วนไปบนโมพิมพ์ (impression cylinder) และหมุนไปบนตัวพิมพ์ที่วางอยู่ บนแท่นที่เคลื่อนตัวไปตามการหมุนของโมพิมพ์
เครื่องพิมพ์ชนิดนี้ในระยะต้น ๆ เรียกว่า แท่นนอน แต่ภายหลังที่มีการสร้างให้มีลมดูดกระดาษ ให้ป้อนพิมพ์โดย อัตโนมัติได้ จึงเรียกว่า แท่นลม และให้คุณภาพของงานพิมพ์ได้ดีพอสมควร
1.3 เครื่องพิมพ์ชนิดโรตารี (web-fed rotary letterpress press) เครื่อพิมพ์ชนิดนี้ต่างกับ สองแบบที่กล่าวมาแล้ว เพราะกระดาษที่ใช้พิมพ์จะป้อนเข้าเครื่องจากม้วนกระดาษอย่างต่อเนื่อง ไม่ป้อนทีละแผ่น ( บางครั้งอาจเรียกว่าเป็นเครื่อง เวบ เลตเตอร์เพรส ได้ web letter-press) ดังนั้น แม่พิมพ์จึงไม่สามารถ วางอยู่บนแท่นในแนวราบหรือแนวตั้ง และไม่สามารถเป็นตัวเรียงธรรมดาได้ แต่จะต้องเป็นแผ่นโค้งติดอยู่กับ โมแม่พิมพ์โดยรอบตามรูปร่างของโมแม่พิมพ์ แต่ในปัจจุบัน ได้เปลี่ยนมาใช้แม่พิมพ์ชนิดที่เป็นโพลีเมอร์ที่มีน้ำหนัก เบากว่า และสะดวกในการทำมากกว่า
เครื่องพิมพ์แบบนี้สามารถพิมพ์ได้เร็วกว่าเครื่องพิมพ์เลตเตอร์เพรสชนิดป้อนเป็นแผ่นมาก นิยมใช้พิมพ์ หนังสือพิมพ์ แคตาล็อก โฆษณา และงานพิมพ์ปริมาณมาก ๆ ไม่เหมาะสำหรับงานพิมพ์จำนวนน้อย ๆ เพราะค่าใช้จ่าย ในการทำแม่พิมพ์และค่าดำเนินการพิมพ์สูง แต่ปัจจุบันความนิยมใช้ก็ลดน้อยลงมาก เพราะค่าใช้จ่ายในการทำ แม่พิมพ์สูง และมีความยุ่งยากมากกว่าระบบออฟเซต และคุณภาพยังสู้ระบบออฟเซตไม่ได้ด้วย
2. ระบบเฟลกโซกราฟฟี (flesography)
ระบบเฟลกโซกราฟฟีเป็นระบบการพิมพ์พื้นนูนชนิดหนึ่ง แต่ต่างจากระบบเลตเตอร์เพรสคือ แม่พิมพ์เป็นแผ่นยาง ม้วนติดโดยรอบกับโมแม่พิมพ์ ไม่เป็นโลหะเหมือนระบบเลตเตอร์เพรส และหมึกที่ใช้เป็นหมึกชนิดใสไม่เหนียวข้น โดยเหตุที่แม่พิมพ์ทำด้วยยางจึงมีน้ำหนักเบา สะดวกในการทำงาน และสามารถพิมพ์ได้เป็นจำนวนมาก ๆ โดยไม่ต้องเปลี่ยนแม่พิมพ์ นิยมใช้ในการพิมพ์สิ่งพิมพ์ประเภท บรรจุภัณฑ์ (packaging) เช่น กล่องกระดาษ ซอง ถุง ส่วนใหญ่เป็นเครื่องพิมพ์ชนิดป้อนเป็นม้วน และสามารถใช้พิมพ์บนวัสดุการพิมพ์ได้เกือบทุกชนิด เช่น กระดาษ พลาสติก แผ่นอะลูมิเนียมบาง ๆ (aluminum foil) ความเร็วในการพิมพ์เหมือนกับเครื่องพิมพ์กระดาษม้วนทั่วไป คือ ประมาณ 30,000 รอบต่อชั่วโมง ไม่นิยมใช้พิมพ์ตัวหนังสือหรือภาพสี่สี เพราะคุณภาพสู้ระบบออฟเซตไม่ได้
ระบบการพิมพ์พื้นราบ (planographic printing) หมายถึง ระบบการพิมพ์ที่ใช้แม่พิมพ์ที่มีลักษณะ เป็นพื้นผิวราบ กล่าวคือ ส่วนที่เป็นภาพและไม่ใช่ภาพอยูในระนาบเดียวกัน คนโดยทั่วไปนิยมเรียกว่า ระบบการพิมพ์ ออฟเซต (offset)
จากการที่ส่วนที่เป็นภาพ และไม่ใช่ภาพบนแม่พิมพ์อยู่ในระนาบเดียวกัน ฉะนั้นในขณะพิมพ์เมื่อลงหมึกให้ แม่พิมพ์ แล้วจะต้องหาทางป้องกันไม่ให้ส่วนที่ไม่ใช่ภาพรับหมึก นั่นคือให้เฉพาะส่วนที่เป็นภาพเท่านั้นรับหมึก ซึ่ง ทำได้โดยหลักการดังนี้
ใช้โลหะทำแม่พิมพ์ที่สามารถรับน้ำได้ดี
สารที่ทำเป็นตัวภาพต้องรับหมึกได้ดี และไม่รับน้ำได้ง่าย
เคลือบผิวส่วนที่ไม่ใช่ภาพด้วยน้ำ เพื่อไม่ให้หมึกสามารถจับติดได้
ดังนั้น ก่อนที่จะจ่ายหมึกให้กับแม่พิมพ์ จะต้องทำให้แม่พิมพ์ถูกเคลือบด้วยน้ำก่อน และโดยคุณสมบัติดังกล่าว ข้างต้น ส่วนที่ไม่ใช่ภาพเท่านั้นที่จะรับน้ำไว้ได้ เมื่อจ่ายหมึกให้กับแม่พิมพ์ หมึกจึงจับติดเฉพาะส่วนที่เป็นภาพเท่านั้น ส่วนที่ไม่ใช่ภาพจะไม่ติดเพราะมีน้ำเคลือบผิวไว้
การพิมพ์ออฟเซตไม่ใช่การพิมพ์โดยตรงจากแม่พิมพ์สู่กระดาษเหมือนการพิมพ์ในระบบเลตเตอร์เพรส แต่เป็นการ พิมพ์ที่ต้องมีการถ่ายทอดภาพจาก แม่พิมพ์ ไปสู่ ผ้ายางแบลงเกต ที่ห่อหุ้มรอบโมยางก่อน (blanket cylinder) จากนั้นจึงจะถ่ายทอดภาพบนกระดาษโดยแรงกดของโมพิมพ์ (inpression cylinder) ตามภาพที่แสดงต่อไปนี้
1. ชนิดของเครื่องพิมพ์ออฟเซต
เครื่องพิมพ์ออฟเซตโดยทั่วไปมีหลักการเดียวกันคือ ประกอบด้วยโมแม่พิมพ์ โมยางและโมพิมพ์ ที่โมแม่พิมพ์จะมี ระบบการให้น้ำและหมึกาต่อเพลทอยู่ด้วย การถ่ายทอดภาพเกิดจาก โมแม่พิมพ์ ได้รับหมึก แล้วถ่ายทอดภาพให้โมยาง แล้วโมยางจึงถ่ายทอดให้กับกระดาษ หรือวัสดุที่ใช้พิมพ์ ในการถ่ายทอดภาพจากโมหนึ่งไปอีกดมหนึ่งนั้น จะต้องใช้ แรงกดที่น้อยที่สุด
ถ้าแบ่งตามขนาดแล้วเครื่องพิมพ์ออฟเซต อาจแบ่งได้ดังนี้
1.1 ออฟเซตเล็ก เป็นเครื่องพิมพ์ขนาดเล็ก พิมพ์กระดาษได้ขนาด 10” x 15” ถึงขนาด 13” x 17” โดยประมาณเครื่องขนาดนี้มีอุปกรณ์ประกอบในการทำงานน้อยไม่ยุ่งยาก ใช้ง่าย เหมาะสำหรับงานพิมพ์ขนาดเล็ก เช่น หัวจดหมาย หนังสือเวียน แผ่นโฆษณาเผยแพร่เล็ก ๆ ไม่เหมาะสำหรับงานพิมพ์สอดสี หรือสี่สี เพราะระบบ ฉากยังไม่มีความเที่ยงตรงเพียงพอ
1.2 ขนาดตัดสี่ เป็นเครื่องพิมพ์ขนาดที่ใหญ่กว่าออฟเซตเล็ก สามารถพิมพ์ได้ขนาดประมาณ 15” x 21” หรือ 18” x 25” มีอุปกรณ์ช่วยในการพิมพ์มากขึ้น ฉากพิมพ์มีความเที่ยงตรงมากขึ้น และมีระบบหมึกและน้ำที่ดีขึ้น สามารถพิมพ์งานพิมพ์ได้เกือบทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นสีเยว หรือหลายสีก็ตาม เหมาะสำหรับพิมพ์หนังสือยกเป็นเล่ม ภาพโปสเตอร์ขนาดกลาง งานพิมพ์ทั่วไป และงานพิมพ์ที่มีจำนวนพิมพ์ไม่มากนัก เช่น ครั้งละไม่เกิน 5,000 ชุด ถ้าเป็นการพิมพ์จำนวนมาก ๆ แล้ว จะเสียเวลามากเพราะมีขนาดเล็ก ไม่สามารถลงพิมพ์คราวละหลาย ๆ แบบได้ เครื่องพิมพ์ขนาดนี้นิยมใช้กันทั่วไปในท้องตลาด ถ้าใช้พิมพ์หนังสือยกจะพิมพ์หนังสือขนาด 8 หน้ายก ( 7.50” x 10.25” ) และขนาด A4 ( 8.25” x 11.75” ) ได้ ทั้งนี้แล้วแต่ขนาดของเครื่องพิมพ์
การที่เรียกว่าเป็นขนาดตัดสี่ เพราะใช้พิมพ์กระดาษขนาด 15.25” x 21.50” ที่เกิดจากการตัดแบ่งกระดาษ แผ่นใหญ่ขนาด 31” x 43” เป็น 4 ส่วนได้พอดี ซึ่งเมื่อนำกระดาษขนาด 15.25” x 21.50” ไปพิมพ์และ พับแล้วจะได้หนังสือขนาด 7.50” x 10.25” ( เจียนเล่มแล้ว ) ซึ่งเรียกว่าขนาด 8 หน้ายก
แต่ถ้าต้องการพิมพ์หนังสือขนาด A4 แล้วต้องใช้เครื่องพิมพ์ขนาดตัดสี่ที่มีขนาดใหญี่ขึ้นคือประมาณ 18” x 25” จึงจะสามารถพิมพ์ได้คราวละ 4 หน้า ถ้าใช้ขนาด 15.25” x 21.50” จะพิมพ์ได้คราวละ 2 หน้าเท่านั้น ซึ่งทำให้ เสียเวลา อนึ่งในการพิมพ์หนังสือขนาด A4 จะต้องใช้กระดาษแผ่นใหญ่ขนาด 24” x 35” จึงจะลงตัวพอดี และ ไม่เหลือเศษ
1.3 ขนาดตัดสอง เป็นเครื่องพิมพ์ใหญ่กว่าขนาดตัดสี่เกือบเท่าตัว กล่าวคือสามารถพิมพ์ได้ขนาดประมาณ 25” x 36” หรือบางแบบพิมพ์ได้ถึงประมาณ 28” x 40” เหมาะสำหรับการใช้พิมพ์งานทางการค้าทั่วไป เช่น หนังสือยก โปสเตอร์ แผ่นโฆษณา และงานพิมพ์ทุกชนิด เนื่องจากสามารถพิมพ์ได้ขนาดใหญ่ จึงสามารถลงพิมพ์ได้คราวละ หลายแบบ แล้วมาตัดซอยเป็นขนาดที่ต้องการภายหลัง ทำให้ประหยัดเวลาในการพิมพ์ เป็นเครื่องพิมพ์ขนาดที่ นิยมใช้กันทั่วไป มีอุปกรณ์ประกอบในการช่วยการพิมพ์ดี ฉากพิมพ์แม่นยำ และความเร็วสูง
การที่เรียกว่าขนาดตัวสองเพราะใช้กระดาษพิมพ์ขนาด 31” x 43” ที่นำมาตัดเป็น 2 ส่วนได้ คือ 21” x 30”
1.4 ขนาดตัดหนึ่ง เป็นเครื่องพิมพ์ชนิดป้อนเป็นแผ่นขนาดใหญ่ที่สามารถพิมพ์กระดาษขนาด 30” x 40” หรือโตกว่าได้ มีอุปกรณ์ช่วยในการพิมพ์มากขึ้น ส่วนมากใช้ในการพิมพ์หนังสือ โปสเตอร์ และบรรจุภัณฑ์ ที่มีปริมาณ การพิมพ์มาก ๆ มีใช้น้อยกว่าขนาดตัดสี่และขนาดตัดสอง
ในปัจจุบันจัดได้ว่าระบบการพิมพ์ออฟเซตเป็นระบบการพิมพ์ที่มีผู้นิยมใช้กันอย่างกว้างขวางมากที่สุด เพราะให้ คุณภาพของงานพิมพ์สูง และราคาไม่สูงมาก ( เมื่อพิมพ์จำนวนตั้งแต่ 3.000 แผ่นขึ้นไป ) เหมาะสำหรับ ใช้พิมพ์สื่อสิ่งพิมพ์ทุกชนิดตั้งแต่ หนังสือ แผ่นโฆษณา โปสเตอร์ เอกสารแผ่นพับ บรรจุภัณฑ์ และงานที่มีปริมาณมาก ๆ เช่น หนังสือพิมพ์ ทั้งชนิดที่พิมพ์สีเดียวและภาพสี่สี
สำหรับประเทศไทยการพิมพ์ระบบออฟเซตได้เริ่มใช้มากกว่า 30 ปีแล้ว และจนถึงทุกวันนี้ก็มีใช้กัน อย่างกว้างขวางทั่วไป จนอาจกล่าวได้ว่างานพิมพ์ที่มีคุณภาพ งานพิมพ์จำนวนมาก ๆ และงานพิมพ์สี่สี ทั้งหมดใน ปัจจุบันพิมพ์ด้วยระบบนี้เกือบทั้งสิ้น ในกรณีของการพิมพ์หนังสือพิมพ์ วารสาร นิตยสาร ในกรุงเทพมหานครนั้น เกือบทั้งหมดเป็นการพิมพ์ด้วยระบบออฟเซต
ส่วนขั้นตอนต่าง ๆ ของการพิมพ์ระบบออฟเซตนั้นอาจแสดงได้ด้วยแผนภูมิต่อไปนี้
จะเห็นได้ว่าขั้นตอนของกระบวนการพิมพ์ มีมากกว่าระบบการพิมพ์เลตเตอร์เพรส จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ค่าใช้จ่าย เบื้องต้นสูงกว่า เมื่อพิมพ์จำนวนน้อย ๆ แล้วจะมีราคาต่อหน่วยค่อนข้างสูง เมื่อเปรียบเทียบกับระบบการพิมพ์ เลตเตอร์เพรส
นอกจากเครื่องพิมพ์ออฟเซตชนิดป้อนด้วยมือดังกล่าวมาแล้ว ยังมีเครื่องพิมพ์ออฟเซตชนิดป้อนด้วยกระดาษ แบบม้วน (web-offset) ซึ่งนิยมใช้ในการพิมพ์หนังสือพิมพ์เพราะมีความเร็วสูง 20,000 – 30,000 ฉบับต่อชั่วโมง
2. ลักษณะของสื่อสิ่งพิมพ์ที่ควรจะพิมพ์ด้วยระบบการพิมพ์ออฟเซต
2.1 พิมพ์จำนวนตั้งแต่ 3,000 ขึ้นไป แต่ถ้าเป็นงานที่ต้องการคุณภาพแล้วอาจพิมพ์ที่จำนวน เท่าไรก็ได้2.2มีภาพประกอบมาก เพราะราคาจะถูกกว่าค่าบล็อก และสามารถจัดวางภาพตามการออกแบบ ได้สะดวกกว่า ภาพมีคุณภาพดีกว่า
2.3 ต้องพิมพ์ภาพสี่สี หรือต้องพิมพ์หลาย ๆ สี
2.4 มีการจัดทำอาร์ตเวอร์คที่ยุ่งยากและต้องการความประณีตสูง หากพิมพ์ด้วยระบบการพิมพ์อื่น ๆ แล้วจะยากและเสียค่าใช้จ่ายมากกว่า
2.5 เป็นงานที่ต้องการคุณภาพ และความรวดเร็ว
3.ระบบการพิมพ์พื้นลึก (intaglio printing)
หมายถึง ระบบการพิมพ์ที่แม่พิมพ์มีส่วนที่เป็นภาพ เป็นร่องลึกลง ไปจากพื้นผิวของแม่พิมพ์ ระบบการพิมพ์ที่เป็นตัวอย่างของการพิมพ์พื้นลึกคือ ระบบการพิมพ์กราเวียร์ (gravure printing)
แม่พิมพ์จะทำด้วยโลหะทองแดงรูปทรงกระบอก (cylinder) และส่วนที่เป็นภาพที่ต้องการพิมพ์จะถูกกัดโดย น้ำกรดให้เป็นบ่อ หรือเซลล์เล็ก ๆ จำนวนมาก ส่วนที่ไม่ใช่ภาพจะไม่ถูกกัดลึกลงไป แม่พิมพ์รูปทรงกระบอกจะถูกแช่ อยู่ในอ่างหมึกที่เป็นหมึกเหลวคล้ายน้ำบ่อหรือเซลล์ที่เป็นส่วนของภาพจะรับหมึกไว้ และจะมีแผ่นปาดหมึก (doctor blade) ทำหน้าที่ปาดหมึกส่วนที่เกินออกไปจากบริเวณผิวที่ไม่ใช่ภาพ
การถ่ายทอดหมึกจะกระทำโดยตรง ลงไปบนวัสดุที่ใช้พิมพ์ โดยใช้โมพิมพ์กดวัสดุที่ใช้พิมพ์ ให้แนบกับโม แม่พิมพ์วัสดุที่ใช้พิมพ์ จะป้อนอย่างต่อเนื่องในลักษณะเป็นม้วน ความเร็วในการพิมพ์จึงสูงเหมือนกับการพิมพ์ชนิด โรตารี โดยทั่วไปคือ ประมาณ 20,000 – 30,000 รอบต่อชั่วโมง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น